ดูแลตัวเองอย่างไร...ให้ห่างไกลโรคหลอดเลือดสมอง

ปวดศรีษะ คลื่นไส้อาเจียน ตาพร่ามัว แขนขาอ่อนแรง พูดไม่ชัด

หากเกิดอาการเหล่านี้ขึ้นอย่างรวดเร็วควรรีบพบแพทย์ เนื่องจาก เป็นอาการนำของโรคหลอดเลือดสมองได้

                โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke ) หรือเรียกว่า โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต เกิดจากสมองขาดเลือดไปเลี้ยง เนื่องจากหลอดเลือดตีบ หลอดเลือดอุดตัน หรือหลอดเลือดแตก ส่งผลให้เกิดอาการต่าง ๆ เหล่านี้ขึ้นมา

อาการของโรคหลอดเลือดสมอง

สามารถพบอาการได้หลายรูปแบบ ขึ้นกับตำแหน่งของสมองที่เกิดการขาดเลือดหรือถูกทำลาย โดยอาการ ที่สามารถพบบ่อย ได้แก่

- อาการอ่อนแรง หรือมีอาการอัมพฤกษ์ที่ร่างกายข้างใดข้างหนึ่ง

- อาการชา หรือ สูญเสียความรู้สึกของร่างกายซีกใดซีกหนึ่ง

- มีปัญหาเกี่ยวกับการพูด เช่น พูดไม่ได้ พูดติด เสียงไม่ชัด หรือไม่เข้าใจคำพูด

- มีปัญหาเกี่ยวกับการทรงตัว เช่นเดินเซ หรือมีอาการเวียนศีรษะเฉียบพลัน

- การสูญเสียการมองเห็นบางส่วน หรือเห็นภาพซ้อน

อาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน ในบางกรณีอาจเกิดเป็นอาการเตือนเกิดขึ้นชั้วขณะหนึ่งแล้ว หายไปเอง หรือเกิดขึ้นได้หลายครั้งก่อนมีอาการสมองขาดเลือดแบบถาวร

ปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง

  1. อายุ : ผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี เนื่องจากอายุมากขึ้นหลอดเลือดจะมีการแข็งตัวมากขึ้น และมีไขมัน เกาะหนาทำให้เลือดไหลผ่านไม่สะดวก
  2. เพศ : เพศชาย มีความเสี่ยงมากกว่าเพศหญิง
  3. ประวัติครอบครัว : ผู้ที่มีคนในครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดสมองหรือโรคหลอดเลือดหัวใจ โดยเฉพาะในขณะที่มีอายุยังน้อย
  4. โรคเบาหวาน : เป็นสาเหตุทำให้เส้นเลือดแข็งทั่วร่างกาย และเมื่อเส้นเลือดในสมองแข็ง ก็จะมีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดสมองอุดตันสูงกว่าคนปกติ 2-3 เท่า
  5. โรคไขมันในเลือดสูง : ทำให้เกิดภาวะไขมันเกาะสะสมอยู่ตามผนังหลอดเลือด เป็นอุปสรรคกีดขวางการลำเลี้ยงเลือดไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
  6. โรคหัวใจ : โรคลิ้นหัวใจรั่วหรือผิดปกติ หัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคเหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุของการเกิดลิ่มเลือด และถ้าลิ่มเลือดไหลมาอุดตันที่หลอดเลือดสมอง ก็จะทำให้สมองขาดเลือดได้
  7. สูบบุหรี่ : ในบุหรี่มีสารนิโคตินและคาร์บอน ทำให้ปริมาณออกซิเจนที่ร่างกายได้รับลดลง และยังเป็นตัวทำลายผนังหลอดเลือด ส่งผลให้หลอดเลือดเกิดการแข็งตัว

การป้องกันโรคหลอดเลือดในสมอง

  1. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง และอาหารรสเค็ม เพราะอาหารที่มีไขมันสูง และรสเค็ม จะส่งผลให้เกิดภาวะคอเลสเตอรอลในเลือดสูง และความดันสูง
  2. การควบคุมน้ำหนัก จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคร้ายแรงต่าง ๆได้ คือ  เบาหวาน ความดัน โรคไต เป็นต้น
  3. หลีกเลี่ยงการใช้ยาบางกลุ่มที่มีโอกาสทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดสมองผิดปกติ เช่น ยาที่กระตุ้นให้กระปรี้กระเปร่า หรือยาที่ทำให้อวัยวะเพศแข็งตัว แม้แต่ยาคุมกำเนิด วิตามินบางชนิดก็อาจจะทำให้เกิดภาวะผิดปกติของหลอดเลือดในสมองได้
  4. ไม่สูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  5. หากมีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคคลอเรสเตอรอลในเลือดสูง โรคหัวใจ ควรรับการรักษาต่อเนื่องกับแพทย์ และทานยาเป็นประจำ

 

                                                      

 

เรียบเรียงข้อมูลโดย พท.ภ. จิราภา ทองพึ่งสุข

 

แหล่งข้อมูล

1.พญ.พรรณวลัย ผดุงวณิขย์กุล. โรคหลอดเลือดสมอง.

2.ผศ. น.ท. นพ.สรยุทธ ชำนาญเวช. โรคหลอดเลือดสมอง รู้ได้เร็ว รักษาได้ทัน. [บทความออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/article