ไข้เลือดออก ป้องกันได้ ด้วยสมุนไพรใกล้ตัว

           ในช่วงฤดูฝนแบบนี้ โรคที่หลาย ๆ คนส่วนใหญ่นึกถึงคงจะเป็นโรคอะไรไปไม่ได้ นอกเสียจากโรคไข้เลือดออก  ที่มีพาหะนำโรคเป็นยุงลายที่จะขยายพันธุ์อย่างรวดเร็วในหน้าฝน ถ้ายุงลายกัดคนที่เป็นไข้เลือดออกในช่วงที่เป็นไข้สูง แล้วไปกัดคนอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้เคียง ก็จะสามารถแพร่เชื้อให้คนอื่นต่อ ๆ ไปได้

      โดยสถิติผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกทั่วประเทศ จากระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา มีคนไทย 1,237,467 คน ต้องตกเป็นเหยื่อของโรคนี้ ส่วนสถานการณ์ไข้เลือดออกของปี 2565  ตั้งแต่ วันที่ 1 ม.ค. – 21  ก.ค. 65  มีผู้ป่วยสะสม 9,472 ราย เสียชีวิตจำนวน 7 ราย  

วิธีที่ดีที่สุดในการควบคุมการระบาดของโรคไข้เลือดออก คือ การป้องกันไม่ให้ยุงกัด โดยควบคุมแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ทั้งภายในบ้าน ชุมชน รวมถึงสถานที่สำคัญต่าง ๆ  ดังนี้

      1. ป้องกันไม่ให้ยุงลายกัด โดยสวมใส่เสื้อผ้าที่ปกปิดมิดชิด ใช้สารไล่ยุงชนิดต่าง ๆ  

      2.ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายบริเวณบ้านและใกล้เคียง ด้วยการปิดฝาภาชนะที่มีน้ำขังไม่ให้ยุงเข้าไปวางไข่ได้ เปลี่ยนน้ำในภาชนะที่ปิดไม่ได้ เช่น แจกัน ทุกสัปดาห์ ปล่อยปลากินลูกน้ำในอ่างบัว ปรับปรุงสภาพแวดล้อมบริเวณบ้านให้สะอาดปราศจากเศษวัสดุที่อาจมีน้ำขังได้

       การป้องกันไข้เลือดออกโดยใช้สมุนไพรใกล้ตัว   สามารถทำได้ง่าย ๆ เพียงนำสมุนไพรอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้  มาทุบ หรือขยี้ แล้วนำไปวางในมุมอับ ที่ยุงชุกชุม น้ำมันหอมระเหยจากสมุนไพร จะช่วยไล่ยุงได้

      1. ตะไคร้หอม

      2. ยูคาลิปตัส

      3. ผิวมะกรูด

      4. ผิวส้ม

      5. โหระพา

      6. สะระแหน่

          ในปัจจุบัน มีผลิตภัณฑ์สเปร์ยกันยุงที่ทำจากสมุนไพรให้ลือกใช้อย่างมากมาย เพื่อความสะดวกสบาย

           แต่หากต้องการทำสเปรย์ตะไคร้หอมไว้ใช้เอง มีวิธีทำง่าย ๆ โดยหั่นตะไคร้หอมเป็นชิ้นเล็ก ๆ ปริมาณ 100 กรัม ผิวมะกรูดหั่นปริมาณ 50 กรัม ห่อด้วยผ้าขาวบาง ใส่ลงในโหลแก้วเติมเอทิลแอลกอฮอล์ปริมาณ 1 ลิตร ใส่การบูรปริมาณ 10 กรัม ปิดฝาให้แน่นหมักไว้ 7 วัน ระหว่างทำการหมักต้องเขย่าโหลแก้วทุกวัน เมื่อครบกำหนดกรองเอาแต่น้ำนำมาบรรจุขวดสเปรย์ ให้ติดฉลากว่าสเปรย์ตะไคร้หอมกันยุง เพื่อป้องกันการหยิบใช้ผิด วิธีใช้ให้ฉีดตามผิวกายแต่ควรระวังการสัมผัสกับเยื่อบุอ่อนที่บอบบาง เพราะอาจจะทำให้เกิดการระคายเคืองได้


 

           หากต้องการติดตามสถานการณ์ล่าสุดของโรคไข้เลือดออกเพิ่มเติมสามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ของกรมควบคุมโรคที่ https://ddc.moph.go.th/dvb/ingma  และนอกจากการใช้สมุนไพรไล่ยุงเพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออกแล้ว ควรกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย หลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในสถานที่ที่มียุงชุกชุม หากต้องเข้าไปในป่า ควรทายากันยุงและสวมเสื้อผ้าที่มิดชิด ไม่ควรสวมเสื้อผ้าสีทึบ หากมีอาการไข้สูง โดยไม่มีอาการไอ เจ็บคอ หรือมีน้ำมูกไหลร่วมด้วย ควรไปพบแพทย์เพื่อปรึกษาและตรวจหาโรคไข้เลือดออก โดยเฉพาะหากพบในช่วงฤดูฝนหรือช่วงที่มีการระบาดของโรคไข้เลือดออก หากสงสัยไข้เลือดออกไม่แนะนำให้ซื้อยาสมุนไพรลดไข้มารับประทานเอง เนื่องจากอาจบดบังอาการของโรคและทำให้การรักษาล่าช้าเกิดอันตรายต่อผู้ป่วยได้

 

 เรียบเรียงข้อมูลโดย พท.ภ.จิราภา  ทองพึ่งสุข

อ้างอิง

1. กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

2. กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก