เมากัญชาทำอย่างไร

                ตามที่หลาย ๆท่านทราบกันอยู่แล้วว่า สมุนไพรกัญชา ได้ถูกปลดออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษชนิดที่ 5  และได้มีการใช้ การปลูก การจำหน่ายกันอย่างแพร่หลายมากขึ้น  ทั้งในการนำมาสูบ การนำมาประกอบอาหาร ซึ่งถ้าหากใช้เกินปริมาณที่กำหนด อาจจะทำให้มีอาการเมากัญชา หรือบางท่านอาจจะแพ้กัญชาได้

             อาการเมากัญชา อาจจะมีหนึ่งหรือหลายอาการ   ดังต่อไปนี้ โครงเครง วิงเวียนศรีษะ  ตาแดง เดินเซ การตอบสนองช้าลง ปากแห้ง  หัวใจเต้นเร็ว ความดันเพิ่มขึ้น ง่วงนอนผิดปกติ หรือถ้าใช้ปริมาณมากเกินไปอาจจะมีอาการหลอน เกิดภาพลวงตา หรือควบคุมตัวเองไม่ได้

             อาการแพ้กัญชาจะคล้ายๆกับการแพ้ยากล่าวคือ มีอาการผื่นขึ้น ปากบวม ตาบวม

     การปฏิบัติตัวเบื้องต้นเมื่อมีอาการเมากัญชา หรือแพ้กัญชาให้หยุดการใช้กัญชาและปฏิบัติดังนี้

  1. ดื่มน้ำเปล่ามาก ๆ
  2. ใช้ใบรางจืด 10  ใบ ใบเตย 3 ใบ (หากไม่มีใบเตยไม่ต้องใช้ได้) ล้างให้สะอาด ใส่น้ำสะอาด 1 ลิตร ต้มเดือด 15 นาที กรองเอากากออก ดื่มอุ่น ๆ วันละ 4 -5 ครั้ง หรือดื่มจนกว่าอาการดีขึ้น
  3. ชงชารางจืด 2-3 กรัม(1ซองชา) กับน้ำอุ่น 120 - 200 มิลลิลิตร วันละ 3 ครั้ง   ก่อนอาหาร หรือเมื่อมีอาการ
  4. แคปซูลรางจืด 500 มิลลิกรัม - 1 กรัม วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร

 

 

 ข้อควรระวังในการรับประทานรางจืด    

  1. รับประทานต่อเนื่องไม่เกิน 14 วัน
  2. รับประทานห่างจากยาโรคประจำตัวอย่างน้อย  2 ชั่วโมง
  3. ระวังในผู้ป่วยเบาหวาน เพราะอาจจะทำให้น้ำตาลในเลือดต่ำ

หากไม่มีรางจืด สามารถบรรเทาอาการเบื้องต้นได้โดย

  1. บีบมะนาวครึ่งลูกผสมเกลือปลายช้อน
  2. เคี้ยวเมล็ดพริกไทย
  3. ดื่มชาชงขิง หรือดื่มน้ำขิง

อาการผิดปกติที่ควรไปพบแพทย์

  1.  หัวใจเต้นเร็วและรัวผิดจังหวะ
  2.  เป็นลมหมดสติ
  3.  เจ็บหน้าอกร้าวไปที่แขน
  4.  เหงื่อแตก ตัวสั่น
  5.  อึดอัดหายใจไม่สะดวก
  6.  เห็นภาพหลอน เกิดภาพลวงตา ควบคุมตัวเองไม่ได้

             ถึงอย่างไรก็ดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  ท่านอนุทิน  ชาญวีรกูล  ยังคงให้กัญชา หรือสารสกัดจากกัญชาเป็นสมุนไพรควบคุม ไม่อนุญาตให้สูบกัญชาในที่สาธารณะ ไม่ให้ใช้และจำหน่ายกับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ไม่ให้ใช้กับสตรีมีครรภ์หรือสตรีให้นมบุตร อนุญาตให้ใช้ทางการแพทย์ได้  หากครอบครอง ใช้ประโยชน์ดูแล เก็บรักษา ขนย้าย จำหน่าย ต้องขออนุญาตสมุนไพรควบคุม ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องสมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ.2565 

 

 พท.ภ.จิราภา ทองพึ่งสุข

 

อ้างอิง

  1. ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องสมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ.2565 ประกาศ ณ วันที่ 16 มิถุนายน 2565
  2. สุภาภรณ์  ปิติพร, บันทึกของแผ่นดิน 12 กัญชาและผองเพื่อน สมุนไพรเพื่อระบบประสาทและจิตใจ, หน้า 44 (กรุงเทพมหานคร : บริษัท ปรมัตถ์การพิมพ์ จำกัด)
  3. ข้อมูลจากศูนย์การเรียนรู้สมุนไพรและภูมิปัญญาสุขภาพ ภูมิภูเบศร
  4. สำนักงานจัดการกัญชาและกระท่อมทางการแพทย์แผนไทย
  5. พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562