เชื่อว่าผู้อ่านคอลัมน์ต้นไม้ ใบหญ้าส่วนใหญ่คงไม่เคยกินมะแว้งในฐานะผักมาก่อน และอาจนึกไม่ออกว่าจะกินอย่างไร ส่วนของมะแว้งที่ใช้เป็นผักได้ก็คือ ยอดอ่อนและผลอ่อน สำหรับยอดอ่อนนั้นต้องนำมาต้มให้สุกเสียก่อน แล้วจึงนำไปใช้เป็นผักจิ้ม ส่วนผลอ่อนดิบใช้เป็นผักจิ้มได้เลย นิยมกินกับปลาร้า แต่ก็ใช้จิ้มน้ำพริกได้เหมือนกัน รสชาติของมะแว้งค่อนข้างขื่นขม แต่เมื่อเคี้ยวสักครู่จะรู้สึกออกรสหวานเล็กน้อย ถือเป็นเอกลักษณ์ของผลมะแว้งดิบ ประโยชน์ด้านอื่นของมะแว้ง คนไทยส่วนใหญ่รู้จักมะแว้งในฐานะสมุนไพรที่มีชื่อเสียงเกี่ยวกับการรักษาอาการไอและขับเสมหะ ตำราสมุนไพรไทยระบุสรรพคุณของมะแว้งดังนี้
ใบ รสขื่นขม บำรุงธาตุ แก้วัณโรค แก้ไอ
ผล รสขื่นขมเอียน แก้ไอ แก้เสมหะ แก้น้ำลายเหนียว
ราก รสขื่นเอียน แก้ไอ แก้เสมหะ ขับให้เสมหะออก แก้ไข้สันนิบาต แก้น้ำลายเหนียว
มะแว้ง แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ มะแว้งต้นกับมะแว้งเครือ และสรรพคุณก็แตกต่างกันไป
มะแว้งต้นมีลักษณะ เป็นไม้พุ่มยืนต้นขนาดเล็ก สูงประมาณ 1 เมตร อายุ 2-5 ปี มีหนามตามลำต้นและกิ่งก้านกระจายอยู่ทั่วต้น มีผลลักษณะกลมๆขนาดเล็ก ผลออกเป็นพวง ผลมีสีเขียวสลับลายขาว ภายในผลมีเมล็ดเล็กๆสีน้ำตาลอ่อนอยู่มากมายเมื่อผลสุกจะมีสีแดงอมส้มผลมีรสชาติที่ขม ดอกมีลักษณะเป็นรูปดาวแฉกมีสีม่วงอ่อนดอกมีขนาดเล็กประมาณ 2 เซนติเมตร
มะแว้งเครือมีลักษณะ เป็นไม้เถา มีหนามประปรายตามลำต้นและกิ่งก้าน มีดอกสีม่วงออกเป็นช่อ มีผลสดสีเขียวเมื่อสุกแล้วจะเป็นสีแดงมีรสชาติขม ใบมีลักษณะปลายมนใบข้างหน้าหยักเว้า ปลูกทั่วไปตามบ้านในชนบท
นอกจากนี้ ยังมีสรรพคุณของรากเพิ่มเติมในบางตำราว่า ใช้ระงับความร้อน กระทุ้งพิษไข้ให้ลดลง และขับปัสสาวะ แพทย์ไทยในอดีตนิยมใช้มะแว้งต้นร่วมกับมะแว้งเครือ เรียกว่า มะแว้งทั้งสอง ปัจจุบันสรรพคุณของมะแว้งในด้านแก้ไอ ได้รับการพัฒนาเป็นยาสำเร็จรูปโดยองค์การเภสัชกรรม มีสรรพคุณเป็นยาแก้ไอ ขับเสมหะ รักษาแผลในลำคอ ถือเป็นตำรับยาแผนโบราณที่มีประสิทธิภาพสูงตำรับหนึ่ง กระทรวงสาธารณสุขประกาศให้เป็นยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณขนานหนึ่ง มีการผลิตออกจำหน่ายอย่างจริงจัง และมีการปลูกมะแว้งเพื่อนำมาผลิตเป็นยา โดยเฉพาะกันบ้างแล้ว