ถ้ากล่าวถึง มะระขี้นก หลายคนจะต้องนึกถึง ผักที่มีรสขม ผลคล้าย กระสวย ผิวเปลือกขรุขระ มีสีเขียวอ่อนไปจนถึงสีเขียว
มะระขี้นก ถูกเรียกในภาษาอังกฤษว่า Bitter Gourd ถือเป็นพืช สมุนไพรที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ไม่ว่าจะประกอบอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง รับประทานเป็นยาแก้ไข้ แก้ร้อนใน และ มากไปกว่านั้น มะระขี้นก ยังมีสรรพคุณช่วยลดน้ำตาลในเลือดได้อีกด้วย
กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก แนะนำสมุนไพรริมรั้วที่มีฤทธิ์ต้านเบาหวาน คือ มะระขี้นก จากผลการศึกษาวิจัยพบว่ามะระขี้นก มีสารรสขมชาแรนทิน (charantin) สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้จริง โดยช่วยกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนอินซูลินจากตับอ่อน ลดการดูดซึมน้ำตาลเข้าสู่เซลล์บริเวณผนังลำไส้เล็ก ลดการสร้างน้ำตาลจากตับ และเสริมการเผาผลาญน้ำตาลในเลือด
วิธีการนำมะระขี้นกมารับประทาน มีหลายวิธีด้วยกัน
- นำมะระขี้นกมาประกอบอาหาร โดยเมนูอาหารที่แนะนำ เช่น ต้มจืดมะระขี้นก ยำมะระขี้นก มะระขี้นกผัดไข่ ฯลฯ
- นำมะระขี้นกมาทำเป็นเครื่องดื่ม
- มะระขี้นกปั่น คั้นน้ำจากผลสดมื้อละ 2-3 ผล โดยเอาเมล็ดในออก ใส่น้ำลงไปเล็กน้อย ปั่นคั้นเอาแต่น้ำดื่ม 3 เวลา ก่อนอาหาร
- ชามะระขี้นก นำเนื้อมะระผลเล็ก ผ่านำเมล็ดออก หั่นเนื้อมะระเป็นชิ้นเล็ก ๆ ตากแดดให้แห้ง นำมาชงกับน้ำเดือด (มะระ 1-2 ชิ้น ต่อน้ำ 1 ถ้วย) ดื่มเป็นน้ำชา ครั้งละ 1-2 ถ้วย วันละ 3 เวลา ก่อนอาหาร
- รูปแบบแคปซูลครั้งละ 500-1,000 มิลลิกรัม วันละ 1-2 ครั้ง
ไม่ควรนำผลมะระขี้นกสุกมารับประทาน เนื่องจาก มะระขี้นกที่สุกแล้วจะมีสารซาโปนิน (Saponin) ในปริมาณมาก การรับประทานอาจทำให้มีอาการอาเจียน ท้องร่วงได้ และอาจทำให้ถึงขั้นเสียชีวิต
ปัจจุบันมีผลการศึกษาวิจัยหลายฉบับทั้งในสัตว์ทดลองและในผู้ป่วยเบาหวาน ยืนยันว่า สาร charantin ที่พบในมะระขี้นก สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้จริง โดยใช้มะระขี้นกขนาด 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน ติดต่อกันเป็นเวลา 6 เดือน และจากการติดตามผล รวมทั้งการศึกษาเกี่ยวกับผู้ใช้มะระขี้นกย้อนหลัง 8 ปี ไม่พบอาการข้างเคียงที่รุนแรง และไม่พบความเป็นพิษต่อตับ
จึงมั่นใจได้ว่า การใช้มะระขี้นก ไม่ในการป้องกันหรือรักษาโรคเบาหวานนั้นมีความปลอดภัย
นอกจากการใช้มะระขี้นกเพื่อลดน้ำตาลในเลือด ก็ควรจำกัดการบริโภคอาหารที่มีปริมาณน้ำตาลสูงออกกำลังกายอย่างเหมาะสม และปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
อ้างอิง
- สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ. มะระขี้นกลดน้ำตาล. [บทความออนไลน์.] เข้าถึงได้จาก https://www.thaihealth.or.th
- สุภาภรณ์ , อำนาจ , ณัฐดนัย. วารสารเภสัชกรรม. ประสิทธิผลของแคปซูลมะระขี้นกต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดในอาสาสมัครที่มีภาวะก่อนเบาหวาน, 2564.