ขมิ้นชันต้านสารอนุมูลอิสระ

สารต้านอนุมูลอิสระคืออะไร เกี่ยวข้องกับขมิ้นชันอย่างไร



           อนุมูลอิสระ คือ สารที่เกิดจากกระบวนการเผาผลาญอาหารในร่างกาย และจากมลพิษต่าง ๆในสภาพแวดล้อมไม่ว่าจะเป็น ฝุ่น ควันบุหรี่ ควันรถยนต์ โอโซน โลหะหนัก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งอนุมูลอิสระเหล่านี้ จะเข้ามาทำลายโครงสร้าง และหน้าที่ของผนังเซลล์ ก่อเกิดความผิดปกติ เซลล์ถูกทำลาย และเสื่อมได้เร็ว เกิดเป็นโรคชรา หรือแก่ก่อนวัย และสามารถเกิดโรคต่าง ๆได้ง่ายขึ้น เช่น โรคหลอดเลือด โรคหัวใจขาดเลือด โรคที่เกิดจากความเสื่อมของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย อีกทั้งยังสามารถ เกิดการกลายพันธุ์ของเซลล์ที่พัฒนาไปสู่เซลล์มะเร็งได้
         สารต้านอนุมูลอิสระ คือ สารที่สามารถลดความเสี่ยงต่อโรคหลายโรคโดยเฉพาะโรคเรื้อรังที่สัมพันธ์กับอาหาร เช่น โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคสมองได้ แล้วยังช่วยชะลอกระบวนการบางขั้นตอนที่ทำให้เกิดความแก่โดยปกติร่างกายสามารถกำจัดอนุมูลอิสระก่อนที่จะทำอันตรายได้ โดยสารต้านอนุมูลอิสระ มีประโยชน์ดังนี้

1.ชะลอกระบวนการแก่ชรา
2.ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็ง
3.ลดภาวะอาการอัลไซเมอร์
4.ลดระดับคอเลสเตอรอลในร่างกาย
5.ช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจ
6.ช่วยป้องกันโรคเส้นเลือดในสมองตีบ
7.ช่วยเป็นเกราะในการป้องกันมลพิษต่าง ๆ จากสิ่งแวดล้อม
          จากผลวิจัยที่น่าเชื่อถือทั้งในและต่างประเทศ มีผลยืนยันว่าขมิ้นชันมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระที่ดี เนื่องจากเคอร์คิวมิน ในขมิ้นชัน มีผลต่อเซลล์มะเร็ง จึงช่วยหยุดยั้งวงจรการขยายตัวของเซลล์ร้าย ต่อต้านทั้งมะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งมดลูก มะเร็งเต้านม โดยมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระดีกว่าวิตามินซี และยังมีงานวิจัยของมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ที่ได้ระบุเกี่ยวกับขั้นตอนการรับประทานขมิ้นชันให้ได้ประโยชน์ดังนี้

การรับประทานขมิ้นชันให้ได้ประโยชน์มากที่สุด จะต้องกินตามเวลาเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีกับอวัยวะที่ต้องการ

  • เวลา 03.00 – 05.00 น. : ช่วยบำรุงปอด ช่วยทำให้ปอดแข็งแรงขึ้น และช่วยป้องกันการเป็นมะเร็งปากมดลูก

  • เวลา 05.00 – 07.00 น. : เมื่อกินเป็นประจำจะช่วยให้ปลายประสาทของลำไส้ใหญ่ฟื้นฟู ช่วยป้องกันการเกิดโรคริดสีดวงทวาร และช่วยให้ขับถ่ายได้ดี

  • เวลา 07.00 – 09.00 น. : ช่วยแก้ปัญหาเรื่องกระเพาะอาหาร บำรุงสมอง ป้องกันอาการความจำเสื่อม และบรรเทาอาการปวดข้อเข่า

  • เวลา 09.00 – 11.00 น. : ลดอาการของโรคเก๊าต์ ลดอาการเบาหวาน และช่วยแก้ปัญหาน้ำเหลืองเสีย

  • เวลา 11.00 – 13.00 น. : เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสำหรับการบำรุงหัวใจ

  • เวลา 15.00 – 17.00 น. : แก้ปัญหาเรื่องตกขาวของสตรี ที่สำคัญยังช่วยในเรื่องการดูแลหูรูดกระเพาะปัสสาวะให้แข็งแรงขึ้น

  • เวลา 17.00 น. – ก่อนนอน : ช่วยในการบำรุงสมองและความจำ ที่สำคัญหากกินในช่วงเวลาก่อนนอนยังทำให้ตื่นเช้ามาด้วยความสดชื่น ไม่งัวเงีย และการขับถ่ายในตอนเช้าก็จะดีขึ้นด้วย

ประโยชน์อื่น ๆ ของขมิ้นชัน
          นอกจากขมิ้นชันจะมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระที่ดีแล้ว ยังมีงานวิจัยที่สนับสนุนว่าขมิ้นชันมีฤทธิ์อื่น ๆ ที่มีประโยชน์ดังนี้

1.ขมิ้นชันมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ    

2.ขมิ้นชันมีฤทธิ์ต้านจุลินทรีย์

3.ขมิ้นชันมีฤทธิ์ลดการบีบตัวของลำไส้

4.ขมิ้นชันมีฤทธิ์ป้องกันการเกิดมะเร็ง และต้านมะเร็ง

5.ขมิ้นชันมีฤทธิ์ต้านการเกิดโรคความจำเสื่อม โรคอัลไซเมอร์

6.ขมิ้นชันมีฤทธิ์ต้านความซึมเศร้า

7.ขมิ้นชันมีฤทธิ์ในการเพิ่มการหลั่งน้ำดี

        ในปัจจุบันขมิ้นชัน เป็นสมุนไพรที่ได้รับการขึ้นทะเบียนรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา รวมถึงได้ขึ้นบัญชียาหลักแห่งชาติ ทำให้ได้รับความนิยมในการกินทดแทนยาแผนปัจจุบัน โดยทั่วไปถือว่าเป็นสมุนไพรที่มีความปลอดภัยสูง เนื่องจากใช้ประกอบอาหารอยู่แล้ว และมีการนำขมิ้นชันมาสกัดให้อยู่ในรูปแบบแคปซูลเพื่อให้สะดวกในการรับประทาน บ้างก็อยู่ในรูปแบบอาหารเสริม ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์การใช้ หากจะซื้อ "ขมิ้นชันแคปซูล" ก็ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่น่าเชื่อถือ และมีฉลากรับรองชัดเจน

       อย่างไรก็ตาม การกินขมิ้นชันแคปซูลติดต่อกันนานๆ ก็อาจทำให้ร่างกายมีสารตกค้างได้ ควรจำกัดในปริมาณที่เหมาะสมพอดี และหากจะกินเพื่อรักษาโรค ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ เนื่องจากสรรพคุณในขมิ้นชันมีข้อควรระวังในสตรีมีครรภ์ ในเด็ก ในผู้ป่วยที่มีท่อน้ำดีอุดตัน และระวังในการใช้ร่วมกับยาในกลุ่มต้านการแข็งตัวของเกร็ดเลือด

เรียบเรียงโดย พท.ภ.จิราภา ทองพึ่งสุข


อ้างอิง
1.ฉัตรชัย สุรศักดิ์,ทบทวนงานวิจัยสมุนไพรไทย การแพทย์แผนไทยและสมุนไพรไทย. 2016

2.รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร,เข้าถึงได้จาก https://www.abhaiherb.net/article/ขมิ้นชัน-ควรรับประทานขมิ้นชันตามเวลาไหนบ้าง-มาดูกัน
3.มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่,เข้าถึงได้จาก http://ashthailand.or.th/smartnews/post/detail/-ประโยชน์สำคัญของ-“สารต้านอนุมูลอิสระ”