โรคไต ดูแลตนเองอย่างไรมาดูกัน

โรคไต    

          คือ      กลุ่มโรคหรือภาวะที่ทำให้ ไตเกิดความเสียหายหรือทำงานผิดปกติ จนเกิดอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ตามมา เนื่องจากไตไม่สามารถฟอกเลือดหรือขับของเสียออกจากเลือดได้ตามปกติ หากป่วยเป็นโรคไต ผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม เพื่อบรรเทาอาการและป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อชีวิต ดังนั้น หากสังเกตพบอาการที่บ่งชี้ว่าไตมีปัญหา ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาให้ทันการณ์

ผู้ที่จะเกิดโรคไตวาย แบ่งง่ายๆ เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

กลุ่มที่ 1 ได้แก่ กลุ่มที่มีโรคที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคไตอยู่แล้ว กลุ่มนี้ที่สำคัญ ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคนิ่ว เป็นต้น  

กลุ่มที่ 2 ได้แก่ กลุ่มที่มีโรคซ่อนอยู่แต่ไม่รู้ตัว บางคนรู้สึกว่าตนมีสุขภาพแข็งแรง ในขณะที่บางคนกินยาที่แพทย์ไม่ได้สั่งให้เป็นประจำ 


สัญญาณ อาการไตเสื่อม ไตไม่ดี

  1. ปริมาณปัสสาวะผิดปกติ เช่น ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะกลางคืน หรือ ปัสสาวะน้อยลง
  2. แสบขัดเวลาปัสสาวะ หรือ มีเศษนิ่วปน
  3. ปัสสาวะมีเลือดปน มีสีเลือด และมีฟองมาก
  4. ปัสสาวะขัด
  5. ปัสสาวะสีเข้มแบบสีน้ำล้างเนื้อ
  6. ความดันโลหิตสูง
  7. บวม บวมรอบตา บวมที่หน้า บวมเท้า
  8. มีอาการปวดบั้นเอวหรือบริเวณสีข้าง (ไม่ต่ำกว่าเอวหรือไม่กลางหลัง)
  9. ตรวจพบความดันโลหิตสูง
  10. ซีด เพลีย ขาดสมาธิในการทำงาน
  11. มีอาการเนื่องมาจากของเสียคั่ง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร คันตามตัว สะอึก ปลายมือเท้าชา เป็นตะคริวบ่อยๆ

    

     แม้ท่านจะไม่มีอาการใดๆเลยก็ตาม ท่านก็อาจจะมีโรคไตซ่อนอยู่ในตัวอยู่แล้วก็เป็นได้  ทางที่ดีท่านลองพิจารณาคำแนะนำดังต่อไปนี้ ได้แก่


1. ระวังอย่าให้เกิดอาการ ท้องเสีย โดยกินเฉพาะอาหารที่สะอาด ปรุงสุกใหม่ๆ ถ้าเกิดท้องเสียท่านจะต้องได้รับน้ำทดแทนอย่างพอเพียง   ถ้าท่านมีโรคไตเรื้อรังอยู่แล้ว การที่เกิดท้องเสียจนทำให้ร่างกายขาดน้ำอย่างรุนแรงและเกิดไตวายเฉียบพลันได้ และบ่อยครั้งไตที่วายแล้วไม่ฟื้นกลับอีกเลย  
 

2. หลีกเลี่ยงการซื้อยา ทั้งยาทั่วไปและยาสมุนไพร กินเองเป็นประจำ ปัจจุบัน การแพทย์ยุคใหม่ส่งเสริมให้ประชาชนดูแลสุขภาพตนเอง การซื้อยาง่ายๆรักษาตนเอง อาทิ โรคหวัด ปวดหัว แต่ต้องทราบว่า ท่านควรไปพบแพทย์ เพราะ หากซื้อทานเอง และ กินเข้าไปมากๆ แล้ว อาจจะทำให้เกิดไตอักเสบ จนเป็นไตวายเรื้อรัง สุดท้ายโรคที่มีอยู่ก็ไม่หาย แถมเกิดโรคไตวายเพิ่ม


3.หลีกเลี่ยงยาเสพติดต่างๆ โดยเฉพาะต้องงดการสูบบุหรี่ ซึ่งมีผลทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นและทำให้ไตเสื่อมเร็ว

4. ปรับพฤติกรรมการบริโภคอาหาร ได้แก่ การลดหวาน, ลดมัน, ลดเค็ม เพื่อควบคุมโรคที่มีผลกระทบต่อไต

5. จำกัดโซเดียมในอาหาร กรณีความดันโลหิตสูงหรือมีอาการบวม ต้องจำกัดปริมาณโซเดียม หากใช้ซีอิ๊วปรุงอาหารได้ประมาณ 3 ช้อนชา/วัน เลี่ยงอาหารรสเค็มจัด รวมถึงอาหารแปรรูป, อาหารหมักดอง, อาหารตากแห้งต่างๆ และอาหารกึ่งสำเร็จรูป ได้แก่ ไส้กรอก, แฮม, เบคอน, บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ขนมขบเคี้ยวต่างๆ เป็นต้น

6. เครื่องเทศ และสมุนไพร ในกรณีที่ผู้ป่วยต้องจำกัดปริมาณโซเดียมต่ำมาก อาจส่งผลให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารได้น้อยลง แนะนำให้ใช้เครื่องเทศ และสมุนไพร เป็นตัวแต่งกลิ่นอาหาร ให้อาหารมีกลิ่น และรสชาติ ที่น่ารับประทานมากขึ้น เช่น หอมแดง ใบมะกรูด กระเทียม ใบโหระพา ข่า ใบแมงลัก ตะไคร้ เป็นต้น

7. น้ำ น้ำเปล่าเหมาะกับผู้ป่วยโรคไตมากที่สุด หรือหากอยากดื่มน้ำสมุนไพร ต้องไม่หวานจัด เช่น น้ำใบเตย น้ำอัญชัน น้ำเก๊กฮวย น้ำกระเจี๊ยบ เป็นต้น หากมีความดันโลหิตสูง หรืออาการบวม ต้องจำกัดน้ำดื่ม ไม่เกิน 700 – 1,000 ซีซีต่อวัน เพราะความสามารถในการขับปัสสาวะของผู้ป่วยโรคไตจะลดลง

8. ข้อปฏิบัติอื่นๆ เช่น งดบุหรี่ เหล้า กาแฟ ระวังมิให้ท้องผูกด้วยยา เพราะเมื่อขับถ่ายยากมีผลให้ความดันโลหิตขึ้น และยังมีผลทำให้ร่างกายดูดซึมโปแตสเซียมมากขึ้น อีกทั้งควรออกกำลังกายอย่างเหมาะสม สม่ำเสมอ และนอนหลับสนิท ส่วนสารอาหารอื่นๆ อาจต้องมีการปรับและควบคุมตามอาการของโรค โดยการ–

         อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดคือ ผู้ป่วยโรคไต ต้องเริ่มปรับพฤติกรรมการบริโภคตั้งแต่ตรวจพบว่าเป็นโรค โดยอาจให้ครอบครัวมีส่วนร่วมในการควบคุมอาหาร รวมถึงการมาพบแพทย์ตามนัด เพื่อความต่อเนื่องในการวางแผนรักษา หรือการพบนักโภชนาการเพื่อช่วยกันวางแผนการรับประทานอาหารที่เหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย เพื่อชะลอความเสื่อมของไตลง