สมุนไพร พื้นบ้าน ดับร้อน

"สมุนไพร" นอกจากจะสามารถนำมาทำเป็นยาตั้งแต่โบร่ำโบราณ ไม่ว่าจะเป็นสมุนไพรไทย หรือ สมุนไพรจีน ปัจจุบัน ยังถือเป็นการแพทย์ทางเลือกให้กับคนที่ต้องการใช้ยาสมุนไพรในการบรรเทา ป้องกัน โรคต่างๆ อีกทั้งในช่วงหน้าร้อนที่อากาศร้อนจัด สมุนไพร ยังสามารถนำมาทำเป็นเครื่องดื่ม เย็นๆ เพื่อดับกระหาย คลายร้อน ได้อีกด้วย อาทิ "6 สมุนไพร" ดังนี้   

  • ดอกเก็กฮวย

เก็กฮวย เป็นพืชดั้งเดิมของประเทศจีนและญี่ปุ่น และได้แพร่เข้าสู่ประเทศกัมพูชา ลาว รวมถึงไทย เป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์มีฤทธิ์เป็นยาเย็น ดับร้อน ขับเหงื่อ และยังมีสรรพคุณป้องกันอาการความดันโลหิตสูง บำรุงหลอดเลือด แก้ไข้ บรรเทาอาการหน้ามืดเป็นลม กลิ่นฉุน มีรสขมและรสหวาน วิธีการใช้นำมาชงหรือต้มผสมน้ำตาลดื่ม

นอกจาก น้ำเก็กฮวยนอกจากจะสดชื่น เป็น "เครื่องดื่มดับกระหาย" แล้ว ยังมีคุณสมบัติเด่นในเรื่องของการขับสารพิษในร่างกาย และยังเป็นยาระบายอ่อนๆ ช่วยขับลม ช่วยระบาย และย่อยอาหาร ทำให้ให้รู้สึกสดชื่น สบายท้อง อีกทั้งเก๊กฮวยดอกขาว หากใช้ร่วมกับ สะระแหน่ ใบไผ่ขม จะช่วยแก้อาการไอได้

  • ใบบัวบก

ข้อมูลจาก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่า ใบบัวบกเป็นพืชที่เหมาะสำหรับเตรียมเป็นเครื่องดื่มและอาหารหรือเป็นผัก ช่วงอากาศร้อน ช่วงเที่ยง ถึงบ่ายสอง อันเป็นช่วงเวลาที่ธาตุไฟในจักรวาลแรงกล้า เหมาะสำหรับวัยรุ่นมากที่สุด เพราะเป็นอายุที่มีธาตุไฟประจำกาย เนื่องจากใบบัวบกมีรสขม ใช้ลดความร้อนในร่างกาย

ใบบัวบกเป็นยาบำรุง รักษาโรคผิวหนัง โรคประสาท ขับปัสสาวะ ต้นและใบเป็นยาบำรุงหัวใจ แก้อ่อนเพลียเมื่อยล้า แก้ท้องเสีย อาการเริ่มเป็นบิด คนจีนใช้ตำละลายน้ำผสมน้ำตาล เป็นยาแก้ร้อนใน แก้ช้ำใน แก้อ่อนเพลียได้ดี สรรพคุณในตำราจีนกล่าวว่า ใบมีรสขมเล็กน้อย เผ็ดเล็กน้อย เย็นจัด หรือหนาว ในทางจีนใช้ขับความร้อน ขับปัสสาวะ แก้พิษ แก้บวม ใช้ในอาการไข้หวัดใหญ่ ใช้ในอาหารเป็นพิษ ใช้ขนาด15-30 กรัม (แห้ง) บำรุงตับ ใช้ขนาด 250 กรัม ต้มในน้ำตาล นอกจากนี้ยังใช้ถอนพิษ

ในทางการแพทย์ล้านนา พบตำรับยาที่เข้าผักหนอก ได้แก่ ยาแก้ปิ (ลมแดด หรือเวลาหิวข้าว) ยามะเร็งครุตขึ้นหัว (ปวดหัวข้างเดียวมาก) ยาลมเกี่ยว (ตะคริว) และยาผีเครือสันนิบาต โดยมีตัวยาอื่นเป็นส่วนร่วม น้ำที่คั้นได้ พบเอเชียติโคไซด์มากที่สุด มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ช่วยเสริมสร้างคอลลาเจนให้กับผิว นอกจากนี้ยังสามารถยับยั้งอาการคัน ช่วยยับยั้งเชื้อกลาก สารสกัดด้วยน้ำยังสามารถช่วยลดการติดเชื้อที่เกิดหนอง ทำให้เหมาะสมในการใช้เป็นผลิตภัณฑ์ภายนอกลดการอักเสบของแผลในช่องปาก และอื่นๆ

  • ใบเตย

ใบเตย หลายคนอาจจะคุ้นชินกับการที่นำมาทำอาหาร ขนม ให้มีกลิ่นหอมและสีสันหน้ารับประทาน รวมไปถึง "เครื่องดื่มดับกระหาย" แต่ความจริงแล้ว ใบเตย มีสรรพคุณมากมายกว่าที่เราคิด เพราะนอกจากจะเป็นยาเย็น แก้อาการร้อนใน แก้กระหายน้ำ ทำให้ชุ่มคอแล้ว ยังมีสรรพคุณในการบำรุงหัวใจ บำรุงกำลัง ลดระดับน้ำตาลในเลือดได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

การใช้ใบเตย เราสามารถเอาใบสดมาต้ม หรือหากต้องการเก็บเอาไว้ดื่มได้นานก็เอาใบสดมาตากแห้งและเอามาคั่ว ทำเป็นชาเอาไว้ดื่ม น้ำเตยหอมมีกลิ่นหอมเย็น ช่วยดับพิษร้อน ทำให้รู้สึกสดชื่น เย็นสบาย แก้อาการอ่อนเพลีย ปรับสมดุลในร่างกาย ช่วยลดความดันโลหิต ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

  • มะตูม

เป็น "สมุนไพร" แห้งอีกชนิดที่คุ้นเคย เป็นไม้ผลยืนต้น พบมากในอินเดีย ปากีสถาน บังกลาเทศ เมียนมา เวียดนาม และมีการนำเข้ามาปลูกที่ไทยจนแพร่หลายในปัจจุบัน มะตูมมีสาระสำคัญหลากหลายชนิดที่ให้คุณค่าทางด้านการรักษาและบำรุงสุขภาพ ผลดิบแห้งแก้ท้องเสีย แก้บิด ผลสุก เป็นยาระบาย ช่วยย่อยอาหาร ใบสด คั้นน้ำกินแก้หลอดลมอักเสบ และเปลือกรากและต้น รักษาไข้มาลาเรีย

นิยมเอามาทำ "เครื่องดื่มดับกระหาย" ในหน้าร้อน เนื่องจากมีสรรพคุณแก้ร้อนใน กระหายน้ำ บำรุงธาตุ  มีกลิ่นหอมทำให้รู้สึกผ่อนคลายนอกจากนี้ ยังช่วยต่อต้านการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย ช่วยต้านไวรัส ยับยั้งการหดเกร็งของลำไส้ ลดและยับยั้งระดับน้ำตาลในเลือด กระตุ้นให้อินซูลินมีปริมาณเพิ่มขึ้น ลดภาวะอักเสบ ได้อีกด้วย

  • กระเจี๊ยบแดง

ข้อมูลจาก กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ระบุว่า กระเจี๊ยบแดง หรือ กระเจี๊ยบ นับเป็นหนึ่งในสมุนไพรพื้นบ้านที่มีการใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง ในงานสาธารณสุขมูลฐานจึงจัดกระเจี๊ยบแดงเป็นสมุนไพรประจำบ้านที่ใช้ง่ายและมีความปลอดภัยสูง นอกจากสามารถนำไปทำเป็น "เครื่องดื่มดับกระหาย" ได้แล้ว ยังมีการศึกษาวิจัยต่อยอดเพื่อค้นหาฤทธิ์ในการลดความดัน ฤทธิ์ลดไขมันในเลือดอีกด้วย

ตำราสรรพคุณยาไทย ระบุว่า กระเจี๊ยบ มีรสเปรี้ยว สรรพคุณ ขับปัสสาวะ ขับเสมหะ แก้ไอ ล้างเมือกมันในลำไส้ให้ลงสู่ทวารหนัก กระเจี๊ยบ ยังจัดเป็นพืชสมุนไพรที่ถูกนำมาอยู่ในรายชื่อคู่มือบัญชียา "สมุนไพร" ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ในกลุ่มยาพัฒนาจากสมุนไพร ยารักษากลุ่มอาการทางระบบทางเดินปัสสาวะ อีกด้วย

  • ตะไคร้

ตะไคร้ 1 ใน 10 สมุนไพร ที่ กรมการแพทย์แผนไทยฯ จัดให้เป็นพืชสมุนไพรประจำบ้านในการดูแลสุขภาพ มีรสปร่า กลิ่นหอม สรรพคุณช่วยแก้เบื่ออาหาร บำรุงไฟธาตุให้เจริญ แก้โรคทางปัสสาวะ ขับลมในลำไส้ ทำให้เจริญอาหาร ส่วนเหง้า หากนำมาคั่วไฟให้เหลือง ชงน้ำรับประทาน ใช้เป็นยาแก้ขัดปัสสาวะ แก้นิ่ว แก้น้ำเบาพิการได้

สรรพคุณของน้ำตะไคร้ คือ กลิ่นหอม ขับปัสสาวะ เป็น "เครื่องดื่มดับกระหาย" ช่วยทำให้ชุ่มชื่นใจ รับประทานแล้วเกิดกำลังวังชา อย่างไรก็ตาม ควรหลีกเลี่ยงการทำให้หวานจัดโดยการใส่น้ำตาลลงไปในปริมาณมาก เนื่องจากอาจก่อนให้เกิดผลเสียในผู้ป่วยโรคเบาหวาน เนื่องจากจะไปมีผลกับระดับน้ำตาลในเลือดได้